Homophobic law has no basis in Buddhism

Please scroll down for English

ร่างกฎหมายเลือกปฏิบัติต่อเกย์กะเทยไม่มีหลักฐานสนับสนุนทางพุทธศาสนา

ร่างกฎหมายที่เสนอให้ลงโทษพระภิกษุสามเณรที่มี “พฤติการณ์เบี่ยงเบนทางเพศ” เป็นการเลือกปฎิบัติและขัดต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า

ร่างพระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนาที่ถูกส่งให้สนช. เสนอให้มีการลงโทษ “พระภิกษุที่มีอำนาจหน้าที่ในการบรรพชาอุปสมบท จงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำการบรรพชาอุปสมบทให้แก่ผู้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ” (มาตรา 40) และ “พระภิกษุ สามเณรใด ที่มีพฤติการณ์เบี่ยงเบนทางเพศกระทำการใดๆ อันเป็นที่เสื่อมเสียแก่พระพุทธเจ้าศาสนา” (มาตรา 41)

แม้ว่าคำว่า "พฤติการณ์เบี่ยงเบนทางเพศ" จะไม่มีนิยามทางกฎหมายที่ชัดเจน แต่เป็นคำทั่วไปที่ถูกใช้เรียกอย่างมีอคติต่อกลุ่มหญิงรักหญิง ชายรักชาย คนรักสองเพศ และคนข้ามเพศ การที่มาตรา 41 มิได้ระบุให้ชัดเจนว่าการกระทำอย่างใด “เป็นที่เสื่อมเสียแก่พระพุทธศาสนา” แสดงให้เห็นว่า บทบัญญัตินี้มิได้มีเป้าหมายอยู่ที่การกระทำ แต่พุ่งเป้าไปที่กลุ่มบุคคล คือภิกษุสามเณรที่ถูกมองว่าเป็นเกย์หรือกะเทย และเนื่องจากมาตรานี้มิได้ลงโทษภิกษุสามเณรที่เป็นชายทั่วไปสำหรับ “การใดๆ อันเป็นที่เสื่อมเสียแก่พุทธศาสนา” จึงเป็นการเลือกปฏิบัติและควรต้องถูกตัดออกไป

ผู้ร่างกฎหมายนี้อาจโต้แย้งว่า เกย์กะเทยควรถูกเพ่งเล็งมากเป็นพิเศษ เพราะไม่ควรได้รับการบวชให้เป็นภิกษุสามเณรมาตั้งแต่ต้น (ดังสะท้อนในมาตรา 40) โดยอ้างถึงการที่พระพุทธเจ้าห้าม “บัณเฑาะก์” บวช หลังจากที่บัณเฑาะก์คนหนึ่งไปเที่ยวเร่ขอให้ผู้ชาย “ประทุษร้าย” ตน [3] แต่การจะด่วนสรุปว่า คำว่า "บัณเฑาะก์" หมายถึงผู้มีกำเนิดเพศชายที่มีความต้องการทางเพศต่อเพศเดียวกัน โดยยกเอาข้อความตอนหนึ่งในพระไตรปิฎกมาอ้างโดยไม่รู้บริบท นับว่าเป็นตรรกวิบัติอย่างรุนแรง การเห็นแมวตัวหนึ่ง (บัณเฑาะก์คนหนึ่ง) กินแคร็อท (อยากให้ผู้ชายหลับนอนด้วย) ไม่ทำให้สรุปได้ว่า การกินแคร็อท (อยากให้ผู้ชายหลับนอนด้วย) เป็นลักษณะของแมวทุกตัว (บัณเฑาะก์ทั้งหมด)

“บัณเฑาะก์” ไม่ใช่เกย์กะเทย

"บัณเฑาะก์" เป็นคำโบราณสมัยพุทธกาลที่มีความหมายคลุมเครือมากว่าสองพันปี แต่บทความของผู้เขียนชื่อ "อสุจิ ไวอากร้า และบัณเฑาะก์: ฮอร์โมนวิทยาโบราณกับการเลือกปฏิบัติยุคปัจจุบัน" ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the Oxford Centre for Buddhist Studies [4] ในพ.ศ. 2555 สรุปไว้ชัดเจนว่า "บัณเฑาะก์" หมายถึงผู้มีกำเนิดเป็นชายที่เสื่อมสมรรถภาพทางเพศจนไม่สามารถให้กำเนิดบุตรได้ ไม่ได้หมายถึงการมีความต้องการทางเพศต่อเพศเดียวกันแต่อย่างใด

กุญแจที่ช่วยคลายปมปริศนานี้อยู่ในกถาวัตถุปกรณ์ ของพระอภิธรรมปิฎก [5] ที่ระบุลักษณะร่วมของบัณเฑาะก์ทั้งหมดว่าไม่สามารถหลั่งอสุจิ (สุกกะ) ได้ ซึ่งตรงกับคำบรรยายในคัมภีร์ทางการแพทย์ของอินเดียโบราณเช่น คัมภีร์จรกสังหิตา และคัมภีร์สุศรุตสังหิตา รวมถึงคัมภีร์ด้านนิติศาสตร์ เช่น คัมภีร์นารทสมฤติ และคัมภีร์มนุสมฤติ (มนูธรรมศาสตร์)

ทำไมความสามารถในการหลั่งอสุจิจึงเป็นเรื่องสำคัญ? เพราะในอินเดียโบราณ การไม่มีลูกชายถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย พระพุทธเจ้าบัญญัติวินัยข้อแรกเพื่อห้ามภิกษุจากการมีเพศสัมพันธ์ เพราะภิกษุรูปหนึ่งถูกพ่อแม่อ้อนวอนขอให้หลับนอนกับอดีตภรรยา เพื่อให้มีลูกสืบสกุลและทรัพย์สินจะได้ไม่ต้องถูกยึดตกเป็นของแผ่นดิน นอกจากนี้สังคมอินเดียยังให้ลูกชายเป็นผู้กระทำพลีบูชาบรรพบุรุษที่ตายไปแล้ว โดยเชื่อกันว่ามีนรกอยู่ขุมหนึ่งโดยเฉพาะสำหรับคนที่ตายโดยไม่มีลูกชาย

จะเห็นได้ว่าสังคมอินเดียโบราณเหมือนกับสังคมก่อนสมัยใหม่อื่นๆ ที่วัตถุประสงค์ของการมีเพศสัมพันธ์คือการให้กำเนิด ความสามารถในการหลั่งอสุจิจึงถือได้ว่าเป็นบททดสอบหนึ่งเดียวของความเป็นชาย

ท่านพุทธโฆษาจารย์ ได้จำแนกบัณเฑาะก์ออกเป็นประเภทต่างๆ ประเภทที่เป็นต้นแบบคือ นปุงสกบัณเฑาะก์ หรือผู้ที่ไม่มีอวัยวะเพศมาตั้งแต่เกิด นับเป็นหนึ่งใน “เพศ” ทั้งสี่ที่ปรากฎในพระไตรปิฎก อันได้แก่ ชาย หญิง อุภโตพยัญชนก (สองเพศ คือ มีทั้งอวัยวะเพศชายและหญิงในคนเดียว) และบัณเฑาะก์ (ไร้เพศ คือ ไม่มีอวัยวะเพศทั้งชายทั้งหญิง)

การ “ไร้เพศ” และ “ไร้บุตร” ของนปุงสกบัณเฑาะก์ทำให้ถูกสังคมดูถูกและรังเกียจ และต้องอาศัยอยู่ชายขอบของสังคม พวกเขา/เธอเหล่านี้จำนวนมากประทังชีวิตด้วยการเป็นโสเภณี และถูกสังคมตำหนิติเตียนว่าเป็นพวกสำส่อนและถูกเลือกปฏิบัติอย่างเหมารวม (บัณเฑาะก์ที่เป็นสาเหตุของการห้ามบวชก็น่าจะเป็นนปุงสกบัณเฑาะก์)

บัณเฑาะก์อีกสี่ประเภทที่เหลือก็ถูกจัดให้เป็นบัณเฑาะก์ด้วยหลักการเดียวกัน เมื่อการมีลูกคือเป้าหมายสูงสุด ชายที่ “ไร้น้ำยา” ก็ไม่ต่างกับคน “ไร้เพศ”

คำนิยามของ โอปักกมิยบัณเฑาะก์ (“บัณเฑาะก์โดยการทำร้าย”) ที่หมายถึง ผู้ที่เชื้อถูกทำให้สูญสิ้นไปโดยการทำร้ายหรือความรุนแรง คงจะไม่เป็นเรื่องน่าแปลกใจสำหรับเมืองไทย ที่การ “ตอน” สามีเจ้าชู้มีให้ได้ยินอยู่เป็นครั้งคราว

ที่น่าสนใจขึ้นไปอีก คือ คำบรรยายของท่านพุทธโฆษาจารย์ถึง อาสิตตบัณเฑาะก์ ว่าคือ ผู้ที่ “ความเร่าร้อนทางเพศดับไปด้วยการอมอวัยวะเพศของชายอื่นและถูกรดด้วยอสุจิ” และอุสุยยบัณเฑาะก์ ว่าคือ ผู้ที่ “ความเร่าร้อนทางเพศดับไปด้วยการดูผู้อื่นมีเพศสัมพันธ์” [6]

แม้บางคนอาจจะมโนเอาเองว่า คำบรรยายแรกชี้ให้เห็นถึงความต้องการทางเพศต่อเพศเดียวกัน แต่คัมภีร์การแพทย์โบราณของอินเดียวินิจฉัยว่า อาการทั้งสองอย่างนี้เกิดจากความด้อยสมรรถภาพในการหลั่งอสุจิเนื่องจากความบกพร่องแต่กำเนิดที่ได้รับมาจากพ่อแม่ บัณเฑาะก์ทั้งสองประเภทนี้จึงต้องได้รับการกระตุ้นดังกล่าวก่อนจะมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิง [7] ที่น่าสนใจคือ คัมภีร์กุรุนที (อรรถกถาโบราณของวินัยปิฎก) อนุญาตให้บัณเฑาะก์ทั้งสองประเภทนี้บวชได้

แต่ที่น่างงงวยมากที่สุด คือ คำบรรยาย ปักขบัณเฑาะก์ (ปักข = รายปักษ์/ครึ่งเดือน) ว่าเป็นบัณเฑาะก์ในข้างแรม แต่ "ความเร่าร้อนทางเพศดับไป" ในยามข้างขึ้น คำถามคือ ถ้าคำว่า “บัณเฑาะก์” หมายถึง การมีความต้องการทางเพศกับเพศเดียวกันหรือการมีอัตลักษณ์ข้ามเพศแล้ว ลักษณะสองอย่างนี้จะเปลี่ยนกลับไปกลับมาทุกครึ่งเดือนได้อย่างไร

ปริศนานี้คลี่คลายลงได้ก็ต่อเมื่อเราเข้าใจว่า ปักขบัณเฑาะก์ หมายถึง ผู้มีอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศชั่วคราว ซึ่งคัมภีร์แพทย์โบราณของอินเดียเชื่อมโยงเข้ากับตำนานข้างขึ้นข้างแรม โดยในตำนานเทพปกรณัมของอินเดียโบราณนั้น จันทรเทพมีชายา 27 องค์ ที่พระองค์จะหมุนเวียนไปร่วมหลับนอนด้วยองค์ละวัน โดยแสงสว่างและสมรรถภาพทางเพศก็จะหมุนเวียนไปตามวัฎจักรของอสุจิที่ค่อยๆ ลดน้อยถอยลงและฟื้นกลับขึ้นมาใหม่เป็นรอบๆ ละหนึ่งเดือน (ในภาษาบาลี อสุจิมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่ง คือ “สุกกะ” ซึ่งมีความหมายว่า “แสงสว่าง” ด้วย [8])

ในพระไตรปิฎก

ในพระไตรปิฎกเอง คำว่า "บัณเฑาะก์" ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับความต้องการทางเพศต่อเพศเดียวกันแต่อย่างใด คำว่า "บัณเฑาะก์" และการบังคับให้สึกไม่ถูกนำมาใช้กับสามเณรกัณฏกะกับมหกะที่ถูกจับได้ว่า “ประทุษร้าย” กันเอง [9] หรือกับพระวักกลิเถระที่หลงใหลต่อรูปของพระพุทธเจ้า หรือพระโสเรยยเถระที่ “เปลี่ยนเพศ” ถึงสองครั้ง (จากชายเป็นหญิงและหญิงเป็นชาย)

สำหรับสังคมอินเดียโบราณแล้ว เอกลักษณ์ของความเป็นชายคือสมรรถภาพในการหลั่งอสุจิ ตราบใดที่ยังสามารถหลั่งอสุจิได้ (ยังมีศักยภาพในการมีบุตรได้) ผู้นั้นก็ถือว่าเป็นชาย มิใช่บัณเฑาะก์ ความดึงดูดต่อเพศเดียวกันหรือการแสดงออกที่ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานทางเพศของสังคมไม่ใช่ประเด็นในการพิจารณาความเป็นบัณเฑาะก์

สำหรับในยุคสมัยปัจจุบัน ผู้ที่ต้องถูกนับว่าเป็น “บัณเฑาะก์” จึงไม่ใช่เกย์หรือกะเทย (ตราบใดที่ยังหลั่งอสุจิได้เอง) แต่คือผู้ที่เกิดมาไม่มีอวัยวะเพศใดๆ และผู้ชายที่เสื่อมสมรรถภาพทางเพศทั้งชั่วคราวและถาวร ไม่ว่าจะจากความบกพร่องทางกายภาพหรือสภาวะทางสรีรวิทยา ดังนั้น หากจะนำกฎห้ามบัณเฑาะก์บวชมาใช้อย่างเคร่งครัด ผู้ที่อยู่ในข่ายห้ามบวชจะไม่ใช่เกย์กะเทย แต่คือผู้ชายจำนวนไม่น้อยที่พึ่งพายาโป๊และยากระตุ้นสมรรถภาพทางเพศต่างๆ เช่น ไวอากร้า รวมถึงวีดิโอคลืปโป๊ เพื่อช่วยกระตุ้นสมรรถภาพในการมีเพศสัมพันธ์

ด้วยเหตุผลดังกล่าว มาตรา 40 และ 41 ในร่างพรบ.ข้างต้นที่เลือกปฏิบัติต่อเกย์กะเทยเป็นการเฉพาะ จึงไม่สามารถอ้างหลักฐานสนับสนุนใดๆ ทางพุทธศาสนาได้ หากจะมีภิกษุสามเณรรูปใดที่ควรถูกลงโทษ ความผิดนั้นควรมีปรากฎอย่างชัดเจนตามที่นิยามไว้ในพระวินัย (เช่น การมีเพศสัมพันธ์) และการลงโทษก็ควรเป็นไปตามพระวินัยเท่านั้น โดยไม่เกี่ยวกับว่าพระนั้นจะมีวิถีทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศแบบใด

อันที่จริงแล้ว สังคมควรตั้งคำถามกับการใช้กฎหมายบ้านเมืองมาควบคุมคณะสงฆ์ เพราะในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าไม่เคยขอให้พระราชาหรือรัฐใดๆ เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการปกครองสงฆ์ ในทางตรงกันข้าม พระพุทธเจ้ากลับใช้วิธีป้องกันการเข้ามาแทรกแซงของรัฐ เช่น กฎการห้ามบวชให้ทหาร

การที่รัฐจะเข้ามาควบคุมคณะสงฆ์ด้วยกฎหมายที่คิดขึ้นมาอย่างหยาบๆ กลับจะทำให้คณะสงฆ์เสพติดอำนาจรัฐมากขึ้นและยิ่งทำให้ภายในคณะสงฆ์เองอ่อนแอลง อีกทั้งทำให้พุทธศาสนาโดยรวมต้องเสื่อมถอยลงไปอีกด้วย

------------------------------------------------------------

เชิงอรรถ

ฉบับภาษาอังกฤษ http://www.nationmultimedia.com/opinion/Homophobic-law-has-NO-BASIS-in-Buddhism-30257329.html

[3] http://www.84000.org/tipitaka/read/?4/125

[4] http://www.jocbs.org/index.php/jocbs/article/view/28 ผู้เขียนขอขอบคุณพระชายวรธัมโมที่จุดประเด็นให้สังคมเห็นว่าบัณเฑาะก์ไม่ได้หมายถึงเกย์กะเทย จนทำให้ผู้เขียนไปค้นคว้าศึกษาเพิ่มเติมและได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าบัณเฑาะก์คือใคร ผลการศึกษานี้ถูกนำเสนอครั้งแรกในงานเสวนา “ศาสนา เพศวิถี และความหลากหลายทางเพศ” ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 20-21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

[5] http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=37&A=5332&Z=5653 (หมายเหตุ สุกกะ = อสุจิ)

[6] ในปัจจุบันอาจจะหมายรวมถึงวีดิโอหรือคลิปโป๊ด้วย?

[7] การรักษาแบบ “ธาตุ” ไหนบกพร่องให้กินสิ่งนั้นชดเชย เป็นลักษณะร่วมอย่างหนึ่งของการแพทย์โบราณทั้งอินเดียและจีน เช่น กล้ามเนื้อไม่แข็งแรงให้กินเนื้อสัตว์ เลือดจางให้กินเลือดสัตว์ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศให้กินอวัยวะเพศสัตว์ใหญ่ ดังนั้น การที่ผู้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศจะต้องพึ่งพาการกระตุ้นด้วยอสุจิของผู้อื่นจึงสอดคล้องกับความรู้ความเข้าใจทางการแพทย์ในสมัยนั้น

[8] เช่น คำว่า สุกสว่าง สุกสกาว

[9] http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=4&A=3106&Z=3135

This article was adapted from Semen, Viagra and Pandaka: Ancient Endocrinology and Modern Day Discrimination, published on the Journal of the Oxford Centre for Buddhist Studies.

The Nation, 2 Apr 2015

Draft legislation to criminalise 'sexual deviant behaviours' in the Sangha is discriminatory and violates the Buddha's teaching

The draft law to promote and protect Buddhism now being considered by the National Legislative Assembly proposes to criminalise monks who intentionally or negligently ordain those “with sexually deviant behaviours” (Article 40), as well as monks or novice monks “with sexually deviant behaviours who by any actions disgrace Buddhism” (Article 41).

Although “sexually deviant behaviours” is legally ill-defined, it is a familiar term to Thai lay people and commonly refers to lesbians, gays, bisexuals and transgenders. The fact that Article 41 fails to specify the “disgraceful” actions makes it clear that its target is not the actions, but the monks or novices who are or are perceived to be gay, bisexual or transgender. Because hetero-normative monks who commit these “disgraceful” actions would not be punished under this provision, the article must be dropped on grounds that it is discriminatory.

The drafters may argue that this group of people should be placed under special scrutiny because they should never be ordained to begin with – as reflected in Article 40 – citing as evidence the Buddha’s banning of “pandakas” from receiving ordination after one pandaka reportedly went around asking to be “defiled” by men. However, to induce that “pandakas” refer to male-born persons with same-sex desire, based on this passage in the Vinaya (monastic rules) taken out of context, is a logical fallacy. Witnessing one cat eating carrot doesn’t mean that all cats eat carrot.

Meaning of ‘pandaka’

The exact meaning of the term “pandaka” has long been unclear. However, this author’s article “Semen, Viagra and Pandaka: Ancient Endocrinology and Modern Day Discrimination” published in the Journal of the Oxford Centre for Buddhist Studies conclusively shows that it broadly refers to men with impotence and the inability to sire children, and not to “same-sex desire”.

The key lies in the opening passage of the second chapter of the Kathavatthu in the Abhidhamma section of the Buddhist canon, which categorically describes pandakas as unable to emit semen. This characterisation is supported by ancient Indian medical treatises such as the Caraka Samhita and the Susruta Samhita, as well as legal treatises such as the Naradasmrti and the Law of Manu.

Why did the ability to emit semen matter? In ancient India, having sons was of utmost importance. The Buddha laid down the first Vinaya rule to prohibit monks from sexual relations when a monk was asked by his parents to have sex with his former wife to sire offspring and thereby prevent their property being seized by the state. Sons perform rites for their deceased fathers. It’s believed that those who die without sons will go to a particular hell.

In ancient India, as in other pre-modern societies, the central purpose of sex was procreation. Being able to emit semen, therefore, was the paramount test of manhood.

The 5th-century monk Buddhaghosa expounded on five types of pandakas. The archetypal napumsaka pandakas are those who lack sexual organs from birth. These “sexless” individuals complete the Vinaya’s four sex categories along with males, females and ubhatobyanjanakas – those born with both male and female sex organs.

Disenfranchised by society as sexless and therefore sonless, many napumsaka-pandakas must have resorted to prostitution to survive. Reviled as promiscuous and lascivious, they in turn suffered discrimination as a group. (The pandaka responsible for the ban was likely of this type.)

The other four types are an extension of the same logic. Semen deficiency leads to son-lessness. Therefore, the seedless are only as good as the sexless and are similarly categorised as pandakas.

The definition of opakkamika (“by-assault”) pandakas as those whose seeds are annihilated by assault or violence will not surprise anyone in Thailand, where wives have been known to cut off their philandering husbands’ members.

More curiously, Buddhaghosa described asitta (“sprayed”) pandakas as those “whose sexual burning is assuaged by taking another man’s member in his mouth and being sprayed by semen” and usuya (“jealous”) pandakas as those “whose sexual burning is assuaged by watching other people having sex”. Although it’s tempting to equate the former with same-sex desire, ancient medical treatises diagnose both types as suffering from underdeveloped capacity to emit semen due to their parents’ deficiency. As a result, they need the said stimulation in order to copulate with women. Interestingly, the Kurundi Atthakatha – the commentary on the Vinaya – permits both these types to receive ordination.

What has long been most perplexing, however, is the bizarre description of pakkha (“fortnight”) pandakas who are pandakas during the waning half of the lunar month but whose sexual burning is assuaged during the waxing half. If one equates pandakas with homosexuals or transgenders, how can they be understood to change back and forth every fortnight?

The description only makes sense when these pandakas are identified with those suffering temporary impotence, which ancient medical treatises link to the Indian mythology of why the moon waxes and wanes. According to the myth, the Moon god has 28 wives – one for each night of the lunar month – and his sexual prowess and brightness rise and fall throughout the month due to semen depletion and recovery. (Another name for semen in Pali is “sukka”, which also means brightness.) The Kurundi Atthakatha permits this type of pandakas to be ordained during the “bright” fortnight, that is, when free from impotence.

The Buddhist canon

The inability to emit semen has nothing to do with same-sex desires. In the Buddhist canon itself, the word “pandaka” was not mentioned nor the ban applied in relation to the novice monks Kandaka and Mahaka who were caught “defiling” each other, venerable Vakkali who was attracted to the appearance of the Buddha, or venerable Soreyya whose sex “changed” twice.

Since for ancient Indians the hallmark of manhood is the ability to emit semen, a male-born person’s attraction to another man, or gender non-conformity, is irrelevant. One is a man and not a pandaka as long as one has the ability to emit semen and, by extension, the ability to sire children.

Therefore, the modern-day equivalents of pandakas are not gays or transgenders, but certain inter-sex persons who were born with neither male nor female sex organs, and men suffering permanently or temporarily from impotence whether through physical impairment or physiological conditions. The latter potentially disqualifies the significant proportion of the male population that takes aphrodisiacs and viagra.

As a result, the discriminatory articles 40 and 41 of the draft bill targeting gays, bisexual men and transgenders cannot claim any basis in Buddhism. If any monk shall be punished at all, the offence must be precisely prescribed by the Vinaya – such as is the case with the celibacy rule – and the punishment must also be carried out strictly according to the Vinaya – regardless of the monk’s sexual orientation or gender identity.

In fact, the whole idea of using laws to regulate the Sangha must be questioned. While alive, the Buddha never asked kings or states to interfere with the governance of the Sangha. If anything, he took measures, such as the rule not to ordain soldiers, to ensure non-interference by the state. To exert more state control over the Sangha with ill-conceived laws will only increase the Sangha’s dependence on state power at the expense of its internal strength, to the detriment of Buddhism as a whole.